บุรีรัมย์​- ประเพณีบวชนาคช้าง

การแต่งกายนาค ประเพณีบวชนาคช้างชุมชนชาวเขมร ชาวกูยจังหวัดบุรีรัมย์ ประเพณีที่ยังมีให้เห็นในชุมชน แถบอำเภอสตึก และอำเภอบ้านด่าน



“เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ” ของนาคตามแบบประเพณีบวชนาคช้างของชาวเขมร ชาวกูยนั้น จะเน้นให้มีสีสันสดใส จะเว้นอยู่สีเดียวคือสีดำ และเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นก็ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและแตกต่างกันออกไปอีก


โดยนาคจะต้องแต่งหน้าทาปาก นุ่งโสร่งสวมเสื้อขาวสว่าง คลุมผ้าสี และสวมกระโจมนาคหรือชฎานาค (ลำผอก) ซึ่งแต่ละชิ้นนั้นก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ “ผ้าหลากสี” เปรียบดังแสงรุ้ง 7 สีของผู้มีบุญวาสนา “เสื้อสีขาวสว่าง” คือการไม่หมกมุ่นในที่มืด


และ “กระโจมนาค” หรือ “ชฎานาค” ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้างนั้น มีความหมายว่า ยอดที่แหลมเปรียบดั่งสมองอันหลักแหลมในการศึกษาพระธรรม ส่วน “นุ่น” ที่ห้อยไว้ด้านข้างของกระโจมนาค ถูกใช้แทนต่างหู เปรียบได้ว่าอย่าได้เป็นคนหูเบา